“สถานภาพการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปในบริบทการท่องเที่ยวรอบ 3 ทศวรรษ” เป็นหนึ่งในหัวข้อวิจัยของโครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน กิจกรรมจัดทำฐานข้อมูล โดยสังเคราะห์ข้อมูลวรรณกรรมการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในภูมิภาคดังกล่าวย้อนหลัง 30 ปีเพื่อจัดทำบรรณนิทัศน์ก่อนวิเคราะห์สถานภาพการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ในเชิงปริมาณพบงานศึกษา 72 เรื่อง ทศวรรษแรก (พ.ศ. 2527-2536) 2 เรื่อง ทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2537-2546) 19 เรื่อง และทศวรรษท้ายสุด (พ.ศ. 2547-2556) 51 เรื่อง ในเชิงคุณภาพ ในรอบ 3 ทศวรรษ พบงานวิทยานิพนธ์ 45 เรื่อง งานวิจัย 20 เรื่อง และหนังสือและบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ 7 เรื่อง หากพิจารณาในแง่สถานภาพกลุ่มชาติพันธุ์ที่ศึกษาพบว่ามีความหลากหลาย เช่น ศึกษาชาวไทยภูเขา ม้ง ภูไท มอญ อาข่า กะเหรี่ยง ไทลื้อ ปะด่อง ไทใหญ่ เวียดนาม ไทดำ ไทพวน กวย ญัฮกรุ ไทเบิ้ง ไทยวน และไทขึน เป็นต้น ขณะที่สถานภาพเรื่องประเด็นสำคัญในการศึกษาพบ 6 ประเด็นที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ คือ การพัฒนา การจัดการ การศึกษา การเปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ และการอนุรักษ์ ที่น่าสนใจคือ ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งๆ อาจมีประเด็นเหลื่อมซ้อนกัน 1-2 ประเด็น ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นที่พบงานศึกษามาที่สุดคือ 32 เรื่อง รองลงมาคือ ประเด็นการพัฒนาพบ 30 เรื่อง ถัดมาคืออัตลักษณ์พบ 13 เรื่อง ในขณะที่การจัดการพบน้อยกว่าการอัตลักษณ์เพียงหนึ่งเรื่อง ส่วนเรื่องการศึกษากลับเป็นประเด็นที่พบน้อยสุด คือ พบเพียง 1 เรื่อง และการอนุรักษ์พบมากกว่าประเด็นการศึกษา 3 เรื่อง กล่าวโดยสรุป การศึกษาการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปในรอบ 3 ทศวรรษ มีสถานภาพการศึกษาค่อนข้างไร้ทิศทาง ขาดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนางานวิจัยที่วางแผนอย่างเป็นระบบ จึงทำให้สถานภาพทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมีความไม่แน่นอน ประการสำคัญ สถานภาพการศึกษาดังกล่าวยังมีนัยยะสำคัญสื่อให้เห็นถึง เรื่องราว “ชาติพันธุ์” ในมิติการท่องเที่ยวที่มีสภาพไม่ต่างไปจากความเป็น “ชายขอบ” ในกลุ่มวัฒนธรรมอาเซียนที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ก็คือกลุ่มคนผู้มีวัฒนธรรมที่มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัฐชาติใด