เว็บไซต์ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเณย์ กำลังทำการปรับปรุงบางส่วน ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ
ติดต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
ปัทมาสนะ ได้แก่บัลลังก์เปล่าที่สร้างด้วยหิน ตั้งอยู่กลางแจ้งโดยมักตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งของลานชั้นในของเทวาลัย บัลลังก์เปล่านี้ถูกสมมติให้เป็นที่ประทับของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮนดูแบบบาหลี คือ Ida SanghayaWidiWasaซึ่งแท้จริงแล้วก็คือภาคปรากฏของ ปรมาตมันหรือพระบรมศิวะ
รูปบบของปัทมาสนะนั้น มักเป็นบัลลังก์หินที่มีฐานซ้อนกันสามชั้น อันแทนโลกบาดาล โลกมนุษย์และโลกสวรรค์ (ภูะ ภูวะ สฺวะ) บางครั้งบัลลังก์ก็ตั้งอยู่บนหลังเต่าซึ่งตรงกับความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ว่า เขาแกนกลางจักรวาลนั้นตั้งอยู่บนหลังเต่า
ปานุมานคือบัลลังก์เปล่าซึ่งประดิษฐานภายในอาคารหลังคาคลุม บัลลังก์เปล่าเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาประทับของเทพเจ้าเมื่อเสด็จมาบนโลกในขณะทำพิธีกรรม ปานุมานปรากฏเฉพาะภายในลานชั้นในของเทวาลัยอันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าเท่านั้น
บัลลังก์เปล่าที่ประดิษฐานอยู่ภายในอาคารหลังคาคลุม อาจมีได้หลายแบบ ทั้งแบบบัลลังก์เดี่ยวซึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เพียงองค์เดียว เช่นพระศิวะหรือพระสูรยะ บัลลังก์คู่ซึ่งเป็นที่ประทับของบรรพบุรุษชาย-หญิง และบัลลังก์สามซึ่งเป็นที่ประทับของตรีมูรติสำหรับตัวอย่างในภาพนี้เป็นบัลลังก์คู่ ซึ่งอาจเป็นที่ประทับของบรรพบุรุษชาย-หญิง
อาคารทรงเมรุ คืออาคารไม้ที่มีหลังคาดซ้อนชั้นในทรงปราสาท หลังคานั้นมักทำขึ้นจากเครื่องไม้มุงกระเบื้องหรือมุงฟาง ซึ่งทำให้อาคารทรงนี้ต้องได้รับการบูรณะอย่างสม่ำเสมอ หลังคาซ้อนชั้นนี้มีความหมายถึง “ปราสาท” หรือเรือนซ้อนชั้นอันเป็นเรือนฐานันดรสูงตามคติในศิลปะอินเดียนั่นเอง
หลังคาของอาคารทรงเมรุนั้น สามารถซ้อนชั้นได้ในจำนวนเลขคี่ คือ อาจซ้อนได้ตั้งแต่ 5 ชั้นจนถึง 11 ชั้น ตัวอย่างสำหรับอาคารทรงเมรุที่ซ้อนถึง 11 ชั้นสามารถศึกษาได้จากอาคารทรงเมรุที่ปุระตะมันอะยุง เมืองเม็งวี ปุระเบซาคิห์และปุระเกเห็น
อาคารทรงเมรุของปุระเกเห็น มีลักษณะพิเศษ คือ อาคารทั้งหลังรองรับด้วยเต่า ซึ่งคงเป็นเต่าแบกจักรวาลตามคติฮินดู และแสดงให้เห็นว่าอาคารหลังนี้เป็นศูนย์กลางจักรวาลอันเทียบได้กับเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของพระศิวะ
เนื่องจากวัดในศิลปะบาหลีย่อมมีลาน 2-3 ลานระหว่างลานจึงมีกำแพงกั้นเสมอ
กำแพงที่กั้นระหว่างลานชั้นกลางกับชั้นในของปุระเกเห็น มีการประดับกระเบี้องปรุตามแบบจีน (แบบเดียวกับที่นิยมในสมัยรัชกาลที่สามของไทย) และประดับแทรกกับการฝังจานกระเบื้องที่เขียนลวดลายคราม (blue-and-white) แบบตะวันตก (แบบดัชต์?) กำแพงนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าชาวบาหลีติดต่อชาวต่างชาติ ทั้งจีนและฝรั่งไปพร้อมกัน
จันทิเบนตาร์ หรือซุ้มประตูแยก ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะบาหลี แม้ว่าจะปรากฏมาบ้างแล้วในศิลปะชวาภาคตะวันออกตอนปลายในสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิตก็ตาม แต่ซุ้มประตูแบบนี้กลับได้รับความนิยมอย่างยิ่งในศิลปะบาหลี
ลักษณะสถาปัตยกรรมที่สำคัญของซุ้มประตูแยก ก็คือการมียอดปราสาทเช่นเดียวกับซุ้มประตุโดยทั่วไป โดยด้านข้างมีการสลักรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมและลวดลายอย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม ตรงกลางนั้นกลับแหวกออกและไม่มีลวดบัวหรือลวดลายใดๆ
ซุ้มประตูแยกที่สำคัญในเกาะบาหลี ได้แก่ซุ้มประตูแยกที่ปุระเบซาคิห์และปุระเกเห็น
ยอดซ้มประตูของปุระเกเห็น แสดงให้เห็นรายละเอียดต่างๆ เช่น เหนือประตูกลางปรากฏโภมะ (Bhoma) หรือหน้ากาลขนาดใหญ่ โดยหน้ากาลดังกล่าวมีลักษณะดุร้ายตามแบบที่ปรากฏในศิลปะบาหลี คือมีปากล่าง มีเขี้ยว แยกเขี้ยวเพื่อแสดงการขู่ ยกมือข้นในท่าขู่และมีตาโปน โดยทั่วไปหน้ากาลมีหน้าที่ป้องกันความชั่วร้าย
เหนือหน้ากาลที่ยอดปราสาทซ้อนชั้น ปรากฏการซ้อนของสัตว์ประหลาดที่ต่อเนื่องจากแนวของหน้ากาลขึ้นไปจนถึงด้านบนซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของยอดปราสาทในศิลปะบาหลี ที่สันหลังคาของยอดปราสาทยังปรากฏการประดับด้วยลายกนกงอนคล้ายศิลปะจีนซึ่งถือเป็นลักษณะของศิลปะปาหลีอีกเช่นกันส่วนรายละเอียดยอดปราสาทนั้นมีลักษณะเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนกันอย่าง่ายๆ ไม่มีรายละเอียดซับซ้อนเช่นไม่มีอาคารจำลองและหน้ากระดานสองชั้นอันแตกต่างไปจากชั้นวิมานในศิลปะชวาภาคตะวันออก
ด้านหน้าเทวาลัยในศิลปะบาหลีย่อปรากฏซุ้มประตูที่มียอดปราสาทเสมอ ซุ้มประตูดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างโลกภายนอกและโลกศักดิ์สิทธิ์ จึงถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างเทวาลัยในศิลปะบาหลี
ซุ้มประตูยอดปราสาท ปรากฏต้นค้ามาแล้วตั้งแต่ศิลปะสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิตในชวาภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม ศิลปะบาหลีได้พัฒนารูปแบบของซุ้มประตูจนมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง แตกต่างไปจากศิลปะชวาภาคตะวันออกอย่างสิ้นเชิง โดยประเด็นสำคัญที่สุดที่สังเกตได้ง่ายก็คือ การปรากฏ “ปีกอาคาร” และการประดับ “ลายกนกงอนคล้ายลายประดับสันหลังคาจีน
ปีกอาคาร คืออาคารที่ขนาบอาคารประธาน โดยเป็นอาคารที่มีเรือนธาตุขนาดย่อมวางขนาบเรือนธาตุของอาคารประธานทั้งสองด้าน ด้วยเหตุนี้ซุ้มประตูในศิลปะบาหลีจึงอาจมีประตูทางเข้าถึง 3 บานได้
ทั้งพนักขั้นบันไดของปุระเกเห็นและปุระเบซาคิห์ล้วนแต่ประดับประติมากรรมบุคคลเป็นระยะๆ ทำให้พนักขั้นบันไดในศิลปะบาหลีมีความน่าสนใจ ประติมากรรมเหล่านี้คงเป็นผู้พิทักษ์เทวสถาน
เทวาลัยในศิลปะบาหลีหลายครั้งตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขา และมีการแบ่งออกเป็นสามลานโดยลานชั้นนอกสุดจะตั้งอยู่บนพื้นที่ราบแต่ลานชั้นในสุดจะตั้งอยู่บนยอดเนินเขา ด้วยเหตุที่ถือคติว่าลานด้านหน้าเป็นโลกมนุษย์ลานด้านในเป็นโลกสวรรค์-ดังนั้น ลานด้านหน้าและลานด้านในย่อมอยู่ในพื้นต่างระดับกันและทำให้เกิดการออกแบบที่ลาดเชิงเขาระหว่างลานด้านหน้ากับลานด้านในให้กลายเป็นพนักขั้นบนได
พนักขั้นบันไดที่ปุระเกเห็น ถือเป็นพนักขั้นบันไดที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในศิลปะบาหลี โดยมีการประดับประติมากรรมอยู่ที่เขื่อนขั้นบันไดทั้งห้าชั้น โดยตรงกลางปรากฏบันไดสำหรับเดินขึ้นไปยังโคปุระ
ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.art-in-sea.com/.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://www.art-in-sea.com/
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 7684 โทรสาร 0 2226 5355