เว็บไซต์ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเณย์ กำลังทำการปรับปรุงบางส่วน ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ
ติดต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
มัสยิด Kampung Kling เดิมเป็นอาคารไม้ สร้างขึ้นโดยพ่อค้ามุสลิมชาวอินเดียในปี ค.ศ.1748 เป็นมัสยิดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในมาเลเซีย ต่อมามีการรื้อและสร้างเป็นอาคารก่ออิฐในปี ค.ศ.1872 มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในรูปแบบศิลปะมะละกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบ Sumatra เหมือนกับ มัสยิด Kampung Hulu โดยเป็นการผสมผสานศิลปะต่างๆ เช่น ผังสี่เหลี่ยมแบบชวา ส่วนหลังคาตกแต่งสันและยอดด้วยปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน มีรูปแบบของหลังคาทรงพีระมิดซ้อน 3 ชั้น ห้องละหมาดล้อมรอบด้วยระเบียงรองรับชายคาด้วยเสาโรมันมีบัวหัวเสาแบบ Corinthian ประตูทางเข้าห้องละหมาดเป็นซุ้มโค้งแต่งของด้วยกระเบื้องลายดอกไม้ ขอบประตูเป็นไม้ตกแต่งช่องลมครึ่งวงกลมด้วยไม้แกะสลักทาสีทอง ด้านในสุดของห้องละหมาดมีมิห์หรอบเป็นซุ้มโค้งเว้าเข้าไปในผนัง ด้านข้างเป็นมิมบัรที่มีหลังคาผังสี่เหลี่ยม ตกแต่งยอด สันหลังคา ชายคา หน้าบันซุ้ม ราวระเบียง และฐานด้วยไม้ฉลุลายทาสีทอง ภายในมัสยิดยังประกอบด้วยสระน้ำวูซู หรือสถานที่ชำระร่างกายเพื่อการละหมาด ด้านข้างมีหอคอยสูงผังสี่เหลี่ยมมีหลังคาแต่งสันและยอดด้วยปูนปั้น หอคอยใช้แทนเสา Minaret ซึ่งได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากเจดีย์หรือถะในศิลปะจีน ด้านหลังเป็นกุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิม อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงตกแต่งลายปูนปั้นที่ซุ้มประตู
มัสยิด Kampung Hulu สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1728 โดย Dato Samsudin Bin Arom ซึ่งเป็นชาวจีนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และได้รับมอบหมายจากผู้ปกครองชาว Dutch ให้สร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้น โดยนับเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย และเป็นตัวแทนของชาวมาเลย์ในยุค Dutch Colonial มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในรูปแบบศิลปะมะละกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบ Sumatra ซึ่งแตกต่างจากมัสยิดแบบอาหรับทั่วไป โดยเป็นการผสมผสานศิลปะต่างๆ เช่น ผังสี่เหลี่ยมแบบชวา แต่ปรับผนังจากผนังไม้เป็นหินและอิฐ ส่วนหลังคาตกแต่งสันและยอดด้วยปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน รวมถึงรูปแบบของหลังคาทรงพีระมิดซ้อน 3 ชั้น ห้องละหมาดล้อมรอบด้วยระเบียงรองรับชายคาด้วยเสาโรมัน ด้านในสุดของห้องละหมาดมีมิห์หรอบเป็นซุ้มโค้งเว้าเข้าไปในผนัง ด้านข้างเป็นมิมบัรที่มีหลังคาผังสี่เหลี่ยม ตกแต่งยอด สันหลังคา ชายคา หน้าบันซุ้ม ราวระเบียง และฐานด้วยไม้ฉลุลายทาสีทอง ภายในมัสยิดยังประกอบด้วยสระน้ำวูซู หรือสถานที่ชำระร่างกายเพื่อการละหมาด มีหอคอยสูง 6 เหลี่ยมแทนเสา Minaret ซึ่งเป็นอิทธิพลทางรูปแบบจากเจดีย์หรือถะในศิลปะจีนเช่นเดียวกัน เหนือประตูทางเข้าเป็นหอกลองผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคาเป็นทรงเดียวกันกับอาคารหลักตกแต่งสันหลังคาด้วยปูนปั้น ด้านหลังเป็นกุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิม อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงตกแต่งลายปูนปั้นและช่องวงกลมตลอดแนวรั้ว
อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นโดยชาว Chulia เป็นหนึ่งในสามมัสยิดที่มีการสร้างขึ้นพร้อมกันโดยชาว Chuliaซึ่งเป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่เดินทางมาจาก Coromandal Coast ทางอินเดียตอนใต้ NagoreDurghaถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นวิหารของฤาษี Shahul Hamid แห่ง Nagore โดยสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1828 - 1830 อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นโดยการผสมผสานศิลปะตะวันออกและศิลปะตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งเห็นได้จากรูปแบบหน้าบันรูปจำลองพระราชวังจำนวน 6 ชั้นทำหน้าที่เป็นราวระเบียง ที่มุมทั้ง 4 มุมของอาคารมีหอคอย (Minaret)ทรงสี่เหลี่ยม ตัวอาคารด้านล่างมีองค์ประกอบแบบPalladian ได้แก่ การใช้ซุ้มโค้งเป็นแถวยาว มีแนวเสารองรับ เหนือซุ้มโค้งมีการตกแต่งลวดลายตามแบบมุสลิมคือ สัญลักษณ์รูปพระจันทร์เสี้ยวและดาวท่ามกลางลวดลายพฤกษา ในปัจจุบันอาคารแห่งนี้ไม่มีการใช้สอยในเชิงศาสนา เพราะมีการปรับการใช้สอยพื้นที่เป็นอาคารนิทรรศการ ที่บอกเล่าประวัติของชุมชน และประวัติของมัสยิด
มัสยิดนี้ตั้งอยู่ใน Little India มัสยิดนี่มีการเรียกขานเป็นหลายชื่อ ได้แก่ Abdul Gafoor Mosque, Abdul Gafor Mosque, Abdul Gaffor Mosque, Abdul Gaphore Mosque, Abdul Gapore Mosque, Dunlop Street Mosque และ Indian Mosque มัสยิดตั้งอยู่ในพื้นที่ Kampong Kaporซึ่งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของพ่อค้าชาวอินเดีย แต่เดิมมัสยิดหลังแรกถูกสร้างในปี ค.ศ. 1846 โดยมีโครงสร้างเป็นไม้ มีหลังคากระเบื้อง ชื่อว่า Masjid Al-Abrarต่อมาในปี ค.ศ.1881 มีการทำข้อตกลงเพื่อจะสร้างมัสยิดสำหรับชุมชนชาวมุสลิมในสิงคโปร์ นำโดย Ismail Mansor และ ShaikAbdul Gaffoor bin ShaikHydertจึงมีการขยายพื้นที่ของมัสยิดให้กว้างขวางขึ้น และมีการสร้างอาคารสำหรับใช้สอยเพิ่มเติมในพื้นที่ขึ้นหลายหลัง การก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1907 ระหว่างการก่อสร้างมีการทุบทำลายมัสยิดหลังเดิมพร้อมกันไปด้วย ในปีค.ศ.1919 Abdul Gaffoorเสียชีวิต ลูกชายของเขาจึงเข้ามาดูแลการก่อสร้างต่อ อาคารมัสยิดแล้วเสร็จในปีค.ศ.1927 รูปแบบทางศิลปะของมัสยิดเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะ Moorishและศิลปะอินเดียตอนใต้ โดยมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนยอดหลังคาประดับด้วยโดมทรงหัวหอม ยอดบนสุดประดับสัญลักษณ์พระจันทร์เสี้ยวและดาว โดมถูกล้อมรอบด้วยหอคอยเล็กๆ และราวระเบียง ที่มุมของหลังคามีการประดับหอคอย (Minaret) ขนาดใหญ่และมีหอคอยขนาดเล็กประดับบนราวระเบียงเป็นจังหวะบนหน้าบันเหนือทางเข้าด้านหน้าประดับด้วยนาฬิกาแดด ตกแต่งด้วยอักษรศิลป์แบบอาหรับ เป็นชื่อของศาสดาพยากรณ์ 25 คน รอบอาคารด้านล่างเป็นระเบียงตกแต่งด้วยซุ้มโค้ง ภายในอาคารแต่งด้วยซุ้มโค้ง ตรงกลางเปิดให้เห็นโดมขนาดใหญ่ที่มีการตกแต่งด้วยกระจกสี
มัสยิดสุลต่านตั้งอยู่ในชุมชนชาวมาเลย์ดั้งเดิมชื่อ Kampong Glam ชุมชนแห่งนี้เป็นถิ่นฐานแรกที่ผู้นับถือมุสลิมที่มาตั้งรกรากในสิงคโปร์ มัสยิดสุลต่านหลังเดิมสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1824 – 1826 โดย Sultan Hussainโดยใช้พื้นที่ข้างพระราชวังของท่าน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ Malays Heritage Centre)อาคารมัสยิดเดิมเป็นหลังคาทรงพีรามิดสองชั้น ซึ่งเป็นรูปแบบของมัสยิดแบบดั้งเดิมที่พบได้ในประเทศมาเลย์เซีย เนื่องจากความจำเป็นในการใช้พื้นที่ของมัสยิดที่มีมากขึ้น จึงมีการรื้อและสร้างมัสยิดให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในปี ค.ศ. 1924มัสยิดหลังนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวไอริชนามว่า Denis Santry โดยใช้รูปแบบศิลปะอิสลามแบบ Saracenicเน้นการตกแต่งด้วยโดม หอคอย (Minaret) และลูกกรง (Balustrade) ซึ่งเป็นการผสมผสานการตกแต่งตามศิลปะ Persian, Turkish, Moorish และIndia มัสยิดนี้มีลักษณะเด่นที่โดมสีทองขนาดใหญ่ และการประดับด้วยโค้งแหลม ตัวอาคารมัสยิดมีขนาดใหญ่สำหรับใช้พื้นที่ในการทำพิธีทางศาสนา โดยห้องละหมาดสามารถจุคนได้ถึง 5,000 คน
ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.art-in-sea.com/.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://www.art-in-sea.com/
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 7684 โทรสาร 0 2226 5355