ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีหมู่เกาะจำนวนมากนั้น ศิลปะและวัฒนธรรมอินเดียภายใต้ศาสนาฮินดูและพุทธมหายานได้เข้ามามีบทบาทอยู่ที่เกาะชวา เกาะบาหลีและเกาะสุมาตรา โดยในเกาะชวานั้น มีศิลปะอินเดียได้เข้ามามีบทบาทตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่แถบชวาภาคกลาง แถบเมืองยอกยากาตาร์ ด้วยเหตุนี้ ศิลปะระยะแรกของเกาะชวาซึ่งได้รับอิทธิพลอินเดียอย่างมากจึงเรียกว่า "ศิลปะชวาภาคกลาง"โดยได้รับการอุปถัมป์จากสองราชวงศ์ คือ ราชวงศ์สัญชัยหรือมะตะรามผู้นับถือศาสนาฮินดู และราชวงศ์ไศเลนทร์ผู้นับถือพุทธศาสนามหายาน |
ส่วนในระยะต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ 16-20 ศูนย์กลางของเกาะชวาได้ย้ายไปยังภาคตะวันออกของเกาะชวา แถบเมืองมาลังและบลิตาร์ ด้วยเหตุนี้ ศิลปะในระยะนี้จึงเรียกว่า “ศิลปะชวาภาคตะวันออก”ในระยะนี้ศิลปกรรมมีความเป็นพื้นเมืองสูง หลุดพ้นไปจากรูปแบบศิลปะอินเดียแต่ยังอยู่ภาใต้วัฒนธรรมทางสาสนาฮินดูและพุทธอยู่ ราชวงศ์ที่สำคัญในระยะนี้คือราชวงศ์ของพระเจ้าไอร์ลังคะ ราชวงศ์สิงหาส่าหรีและราชวงศ์มัชฌปาหิต |
เมื่อศาสนาอิสลามเริ่มแพร่เข้ามาในเกาะชวา ทำให้ชาวฮินดูจำนวนมากอพยพเข้าสู่เกาะบาหลี กระบวนการนี้ปรากฏอย่าชัดเจนเมื่อราชวงศ์มัชฌปาหิตล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 20 ด้วยเหตุนี้ เกาะบาหลีจึงเป็นเกาะที่รักษาวัฒนธรรมและศาสนาแบบชวาตะวันออกจนถึงปัจจุบัน ในระยะนี้เรียกว่า “ศิลปะบาหลี” ป็นระยะที่ศาสนาฮินดูแบบอินเดียได้เข้าปะปนกับความเชื่อพื้นเมืองจนกลายเป็นศาสนาแบบพิเศษของเกาะบาหลีไป |
ศิลปะชวาภาคกลางตอนต้น ปรากฏสถาปัตยกรรมระยะแรกบนที่ราบสูงเดียง (Dieng) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองโวโนโซโบ (Wonosobo) บนที่ราบสูงแห่งนี้ปรากฏจันทิขนาดเล็กกลุ่มหนึ่งซึ่ง ถือเป็นจันทิที่เก่าแก่ที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นโดยราชวงศ์มะตะรามของพระเจ้าสัญชัยผู้นับถือศาสนาฮินดูในพุทธศตวรรษที่ 14 ศิลปะในระยะนี้เกี่ยวข้องอย่างมากกับศิลปะอินเดียใต้ ด้วยเหตุนี้ ยอดปราสาทในศิลปะชวาระยะนี้จึงมักเป็นยอดวิมานที่ประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองและอาคารจำลองตามแบบอินเดียใต้ อย่างไรก็ตาม ยังคงปรากฏอาคารหลังหนึ่งคือจันทิภีมะที่มียอดปราสาทตามแบบศิขระในศิลปะอินเดียเหนือ อันแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการับอิทธิพลอินเดียในระยะแรกของศิลปะชวาภาคกลาง
ศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง เป็นระยะทางศิลปกรรมที่ได้รับการอุปถัมป์จากราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายานในพุทธศตวรรษที่ 14 จันทิและศาสนสถานที่สำคัญในระยะนี้ ได้แก่จันทิเมนดุต จันทิปะวนและสถูปบุโรพุทโธ พัฒนาการสำคัยในระยะนี้คือจันทิเริ่มมีความซับซ้อนขึ้ย เรือนธาตุมีการแบ่งออกเป็นสามส่วนคือแบ่งเป็น “เก็จประธาน” และ “เก็จมุม” โดยมีการสลักภาพพระโพธิสัตว์ทุกเก็จซึ่งทำให้ระบบทางประติมานวิทยาเกิดความซับซ้อนขึ้นมาก ในระยะนี้ยังคงปรากฏเรือนธาตุจำลองตามแบบวิมานอินเดียใต้ แต่การเปลี่ยนจากอาคารจำลองเป็นสถูปิกะนั้น แสดงให้เห็นถึงการปรับเลี่ยนไปตามพุทธศาสนา ในระยะนี้ยังมีสถูปบุโรพุทโธซึ่งถือเป็นสถูปที่ใหญ่ที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นโดยจำลองจักรวาลซึ่งประกอบด้วยพระอาทิพุทธเจ้า พระธยานิพุทธเจ้าแลพระมานุษิพุทธเจ้าประทับอยู่ในตำแหน่งต่างๆของจักรวาลตามระบบทางประติมานวิทยา การจำลองจักรวาลของบโรพุทธโธนั้นนอกจากจะใช้แผนผังของฐานเป็นตัวกำหนดเพื่อแยกระหว่างกามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิแล้ว ยังมีการกำหนดภาพเล่าเรื่องต่างๆและลักษณะของพระพุทธรูปและสถูป เพื่อแสดงระบบของจักรวาลให้ชัดเจนขึ้น
ศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย เป็นระยะที่ศิลปกรรมเพิ่มความซับซ้อนขึ้นมากทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู โดยมีการสร้างจันทิที่อยู่ในผังกากบาทโดยมีห้องอยู่ภายในห้าห้องซึ่งประดิษฐานพระพุทธเจ้าหรือเทพเจ้าตามทิศทางประติมานวิทยา นอกจากนี้ ระบบมณฑลอันประกอบด้วยอาคารบริวารจำนวนมากเรียงกันในผังสี่เหลี่ยมก็ปรากฏความนิยมขึ้นในระยะนี้ ผลของความซับซ้อนดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับศิลปะปาละซึ่งนิยมแผนผังของอาคารในลักษณะนี้เช่นกัน ตัวอย่างของอาคารนังห้าห้องและมีการวางอาคารตามระบบมณฑล เช่น จันทิกะลาสัน จันทิเซวู และจันทิปรัมบะนัน ส่วนจันทิส่าหรีและจันทิเซวูนั้น แผนผังแบบใหม่คืออาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งภายในแบ่งออกเป็นสามห้องก็เริ่มปรากฏขึ้นควบคู่กับอาคารแบบปกติ ความซับซ้อนของแผนผังทั้งหมดนี้ต่อมาจะลดลงจนกลายเป็นแผนผังที่เรียบง่ายในศิลปะชวาภาคตะวันออก