เว็บไซต์ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเณย์ กำลังทำการปรับปรุงบางส่วน ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ
ติดต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
จันทิภีมะ ถือเป็นจันทิที่แปลกที่สุดในศิลปะชวาภาคกลาง เนื่องจากเป็นจันทิที่ได้รับอิทธิพลจากอาคารทรงศิขระในศิลปะอินเดียเหนือ แตกต่างไปจากจันทิอื่นๆในศิลปะชวาที่มักจะมีพื้นฐานมาจากอาคารทรงวิมานในในศิลปะอินเดียใต้ อนึ่ง เป็นที่น่าแปลกว่า จันทิภีมะเป็นเพียงจันทิเดียวที่ใช้ยอดศิขระแบบอินเดียเหนือ ต่อมายอดแบบนี้จะไม่ปรากฏอีกในศิลปะชวา
ยอดปราสาทของจันทิภีมะปรากฏซุ้มกูฑุซ้อนกัน 2 ซุ้มทั้งเก็จประธานและเก็จมุมโดยไม่ปรากฏเรือนธาตุจำลอง เส้นรอบนอกของยอดอาคารจึงเป็นเส้นตรงซึ่งแตกต่างไปจากเส้นรอบนอกขั้นบันไดตามแบบศิลปะอินเดียใต้ กูฑุซ้อนกัน 2 ซุ้มนี้ ทุกซุ้มปรากฏรูปบุคคลโผล่ และมีเค้าโครงที่ดัดแปฃงมาจากกูฑุเต็มอัน-ครึ่งอันซึ่งเป็นลักษณะปกติในศิลปะอินเดียเหนือ
จันทิศรีกันทิ จันทิขนาดเล็กระหว่างจันทิอรชุนและจันทิปุนตเทพ มีผนังท่แงออกเป็น 3 เก็จอย่างง่ายๆด้วยเสาติดผนัง 4 ต้น ก้านบนเรือนธาตุยังปรากฏชั้นคอ ซึ่งบนท้องไม้มีลวดลายกูฑุและลายประจำยามซึ่งอาจหมายถึงลายชาลีหรือลายเลียนแบบช่องระบายอากาศ ที่เก็จประธานปรากฏภาพพระวิษณุผู้ถือจักรและสังข์ที่พระหัตถ์คู่บน ประทับยืน อย่างไรก็ตามพระหัตถ์คู่หน้ากลับถือหอกหรือสิ่วซึ่งไม่ใช่อาวุธของพระวิษณุโดยทั่วไป
จันทิปุนตเทพ เป็นจันทิที่งดงามอีกแห่งหนึ่งในศิลปะชวาภาคกลางตอนต้น แม้ว่าเค้าโครงของสถาปัตยกรรมจะคล้ายคลึงกับจันทิอรชุน แต่จันทิปุนตเทพกลับมีรายละเอียดที่มากกว่าจันทิอรชุน ประเด็นที่มีรายละเอียดกว่าจันทิอรชุนก็คือ เก็จประธานมีการซ้อนซุ้มกาล-มกรในกรอบสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ ภายในซุ้มยังปรากฏยอดปราสาทซ้อนภายในอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนที่เก็จมุมของเรือนธาตุปรากฏการประดับเสาติดผนังที่ด้านข้างและซุ้มลายกนกที่ด้านบน การเพิ่มเติมลวดลายเช่นนี้จะปรากฏต่อไปในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง เช่นจันทิเมนดุตและจันทิปะวน
มุขด้านหน้าจันทิอรชุนมีลักษณะน่าสนใจ คือเป็นมุขสั้นๆที่มีหลังคาทรงจั่วสามเหลี่ยมตามแบบพื้นเมือง แตกต่างไปจากหลังคามุขมณฑปในศิลปะอินเดีย ที่สำคัญคือการปรากฏซุ้มกาล-มกรซึ่งครอบประตูทั้งหมด ลักษณะเช่นนี้แตกต่างไปจากศิลปะอินเดียเช่นกัน และอาจกล่าวได้ว่าซุ้มกาลมกรนี้เป็นลักษณะเฉพาะในศิลปะชวาอย่างแท้จริง ซุ้มกาล-มกร คือซุ้มซึ่งปรากฏหน้ากาลอยู่ด้านบน หน้ากาลคายวงโค้งออกมา และที่ปลายสุดของวงโค้งทั้งสองข้างปรากฏมกรหันออก
เรือนธาตุของจันทิอรชุน ปรากฏการแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยเสาติดผนังจำนวน 4 ต้น (เสา 2 ต้นตรงกลางและ 2 ต้นที่มุม) การแบ่งด้วยทำให้เรือนธาตุประหนึ่งว่าถูกแบ่งออกเป็นเก็จประธานและเก็จมุม อย่างไรก็ตาม ผนังของแต่ละเก็จไม่ได้มีการหยักมุมนัก .ทำให้ผนังของเก็จมุมและเก็จประธานอยู่ในระนาบเดียวกัน
ที่เก็จประธานปรากฏซุ้มจระนำส่วนเก็จข้างกลับไม่ปรากฏซุ้มใดๆ ซุ้มจระนำที่เก็จประธานอาจเคยประดิษฐานประติมากรรมซึ่งสูญหายไปแล้ว
จันทิอรชุนเป็นจันทิที่สำคัญที่สุดในกลุ่มห้าหลัง เป็นจันทิขนาดเล็ก มีรูปแบบอย่างง่ายๆ กล่าวคือ ประกอบด้วยฐานบัวจำนวน 1 ชั้น รองรับเรือนธาตุ ชั้นหลังคาประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นขึ้นไปหลายชั้น โดยแต่ละชั้นมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆทำให้เส้นรอบนอกของยอดจันทิคล้ายขั้นบันได ที่กึ่งกลางของเรือนธาตุจำลองปรากฏซุ้มจระนำขนาดเล็กซึ่งแสดงการจำลองแบบเรือนธาตุจริงขึ้นไป ที่มุมของเรือนธาตุจำลองแต่ละชั้นปรากฏ อาคารจำลอง องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำให้รูปแบบของจันทิอรชุนคล้ายคลึงอย่างมากกับอาคารทรง
กลุ่มจันทิบนที่ราบสูงเดียง
กลุ่มจันทิบนที่รายสูงเดียงที่สำคัญได้แก่ กลุ่มจันทิห้าหลังอันได้แก่ อรชุนเสมาร์ ศรีกันที ปุนตเทพและเสมาภัทร โดยจันทิที่สำคัญที่สุดในกลุ่มจันทิห้าหลัง ได้แก่จันทิอรชุน ซึ่งด้านหน้าปรากฏจันทิเสมาร์อีกแห่งหนึ่งประกอบอยู่ อาจเป็นไปได้ที่จันทิเสมาร์นี้คงอุทิศให้กับพาหนะของเทพประจำจัทิอรชุนก็ได้ (โคนนทิ?)
ชื่อของจันทิบนที่ราบสูงเดียงนี้ล้วนแต่ตั้งขึ้นตามตัวละครในมหากาพย์มหาภารตะ เช่น อรชุน ปุนตเทพ ภีมะ อย่างไรก็ตาม เทวาลัยเหล่านี้มิได้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับตัวละครเหล่านี้
ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.art-in-sea.com/.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://www.art-in-sea.com/
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 7684 โทรสาร 0 2226 5355