เว็บไซต์ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเณย์ กำลังทำการปรับปรุงบางส่วน ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ
ติดต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้านรสีหบดี อันเป็นรัชกาลสุดท้ายก่อนที่กองทัพมองโกลจะเข้าตีพุกาม ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มิงกลาเจดีย์เป็นเจดีย์แบบพม่าแท้ในสมัยพุกามตอนปลายสุด เจดีย์องค์นี้มีคติที่เป็นอัปมงคล คือ มีความเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของพุกาม เจดีย์องค์นี้จึงไม่ได้รับการบูรณะในรุ่นหลัง รูปแบบโดยทั่วไปมีลักษณะเหมือนกับเจดีย์ชเวซิกองเกือบทุกประการ มีลักษณะเป็นเจดีย์อยู่ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น (มุมประธานมีขนาดใหญ่) ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะปาละ และเจดีย์กลุ่มอิทธิพลปาละในศิลปะพุกาม ฐานแต่ละชั้นประดับด้วยลวดบัวแบบพม่าแม้ คือ ท้องไม้มีการเจาะช่องสำหรับบรรจุภาพชาดก และกลีบบัวเหนือหน้ากระดานบน เจดีย์มีลานประทักษิณ (มีสถูปิกะประดับอยู่แต่ละชั้น) บันไดทางขึ้น และซุ้มประตู ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม และฐานกลม รวมถึงมีบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆัง ซึ่งมีการประดับรัดอก ลายหน้ากาลคายพวงมาลัย พวงอุบะ และ บัวคอเสื้อต่อขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ไม่มีบัลลังก์ ต่อด้วยปัทมบาท และปลี ส่วนความต่างกับเจดีย์ชเวซิกอง คือ ฐานชั้นแรกของมิงกลาเจดีย์ใช้ลูกฟักขนาดเล็กคาดท้องไม้แทนที่จะใช้บัวลูกแก้ว และสถูปิกะชั้นบนสุดไม่ได้รวมกลุ่มเป็นหมู่ห้า
ที่ลานชั้นที่ 2 นั้น ปรากฏเทวาลัยซึ่งมีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในพ.ศ.1912(ต้นพุทธศตวรรษที่ 20)เทวาลัยหลังนี้มีรูปแบบที่อาจใช้เป็นตัวอย่างศึกษาสถาปัตยกรรมชวาภาคตะวันออกตอนปลายสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิตได้
เทวาลัยมีขนาดเล็กและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุมีรัดอกคาดและที่ประตูทั้งสี่ทิศประดับหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้ายซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกับจันทิในสมัยสิงหาส่าหรียอดของจันทิมีรูปแบบคล้ายคลึงกับจันทิในสมัยสิงหาส่าหรีเช่นกัน กล่าวคือประกอบด้วยชั้นหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่ประดับด้วยอาคารจำลอง อย่างไรก็ตาม เส้นรอบนอกของยอดที่นี่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่อ่อนช้อยซึ่งคงแสดงพัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่าสมัยสิงหาส่าหรี ยิ่งกว่านั้น อาคารจำลองของจันทิที่มีจำนวนถึง 7 หลังนั้น ก็มีจำนวนมากกว่าอาคารจำลองในศิลปะสมัยสิงหาส่าหรีที่มีจำนวนเพียง 5 หลังต่อชั้นเท่านั้น
จันทิจาวีเป็นที่ฝังพระอัฐิของพระเจ้ากฤตนครเช่นเดียวกับจันทิสิงหาส่าหรี มีรูปแบบที่อาจเปรียบเทียบกับจันทิอื่นๆในศิลปะชวาภาคตะวันออก เช่น เรือนธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุรัดด้วยรัดอก ทั้งสี่ด้านปรากฏประตูหลอกซึ่งมีหน้ากาลประดับอยู่ด้านบน ถัดขึ้นไปได้แก่ชั้นซ้อนซึ่งประกอบด้านหน้ากระดานสองชั้นสลักกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองประดับ อนึ่ง ยอดที่ดูเหมือนสถูปในพุทธศาสนานั้น แสดงให้เห็นการผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูซึ่งกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์นครกฤตาคมอันเป็นพงศาวดารพื้นเมือง
จันทิสิงหาส่าหรีมีรูปแบบที่เทียบได้กับจันทิโดยทั่วไปในศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ เป็นอาคารขนาดเล็กที่มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุรัดด้วยรัดอก ทั้งสี่ด้านปรากฏประตูหลอกซึ่งมีหน้ากาลประดับอยู่ด้านบน ถัดขึ้นไปได้แก่ชั้นซ้อนซึ่งประกอบด้านหน้ากระดานสองชั้นสลักกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองประดับ อนึ่ง ช่างสลักด้านบนลงด้านล่าง ด้วยเหตุนี้ด้านล่างจึงยังคงสลักไม่เสร็จ แต่ด้านบน โดยเฉพาะที่ยอดและหน้ากาลมีลวดลายเสร็จสมบูรณ์แล้วหลายจุดที่น่าชมก็คือ ลวดลายหน้ากาลที่มีลายกนกครอบคลุมอย่างมาก
รายละเอียดเรือนธาตุของจันทิกิดาล ซึ่งเหนือประตูกลางปรากฏหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้ายตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ เป็นหน้ากาลที่มีปากล่าง มีเขี้ยวยื่นออกมา มีเขาและมีมือที่ชูนิ้วขึ้นในท่าขู่ (ดรรชนีมุทรา) หน้ากาลที่ด้านบนสุดของประตูใหญ่นั้น ย่อมเป็นรูปแบบที่สืบทอดมาจากการประดับซุ้มกาล-มกรครอบซุ้มประตูในศิลปะชวาภาคกลางนั่นเอง อย่างไรก็ตาม มกรนั้นได้หายไปเหลือแต่เพียงหน้ากาลในระยะนี้
เรือนธาตุยังปรากฏ “เส้นรัดอก” รัดกลางเรือนธาตุซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะชวาภาคตะวันออก รัดอกนี้แท้จริงแล้วก็คือเส้นคาดเรือนธาตุสองชั้นที่สืบมาตั้งแต่ศิลปะชวาภาคกลางตอนปลายส่วนซุ้มจระนำขนาดเล็กทั้งสองที่ขนาบข้างประตูนั้น คงได้แก่ซุ้มทวารบาลของพระศิวะ อันได้แก่นันทิเกศวรและมหากาล
ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.art-in-sea.com/.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://www.art-in-sea.com/
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 7684 โทรสาร 0 2226 5355