เว็บไซต์ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเณย์ กำลังทำการปรับปรุงบางส่วน ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ
ติดต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
ที่ฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมปรากฏซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศประดิษฐานพระธยานิพุทธทั้งสี่องค์ คือทางทิศตะวันออกปรากฏพระธยานิพุทธอักโษภยะแสดงปางมารวิชัย ทิศใต้ปรากฏพระธยานิพุทธรัตนสัมภวะแสดงปางประทานพร ทิศตะวันตกปรากฏพระธยานิพุทธอมิตาภะแสดงปางสมาธิ และทิศเหนือปรากฏพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิแสดงปางประทานอภัย พระธยานิพุทธเหล่านี้เป็นผู้ทรงสัมโภคกาย อันเป็นกายทิพย์ที่อยู่ในรูปภูมิ ด้วยเหตุนี้ซุ้มพระพุทธรูปทั้งหมดจึงเป็นตัวแทนของรูปภูมิและเป็นตัวแทนของสัมโภคกาย
ฐานประทักษิณทั้งสี่ชั้นของบุโรพุทโธปรากฏอยู่ระหว่างฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแต่ละชั้น โดยฐานชั้นที่ 1 ปรากฏภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตามคัมภีร์ลลิตวิสตระ รวมถึงเรื่องชาดกและอวทานซึ่งเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ส่วนลานประทักษิณชั้นที่ 2-4 ปรากฏภาพเล่าเรื่องพระสุธนแสวงหาอาจารย์ตามคัมภีร์คันธวยุหสูตรและภัทรจารี
ฐานประทักษิณเหล่านี้ มุ่งหมายให้ผู้ศรัทธาเรียนรู้เรื่องราวทางพุทธศาสนาไปด้วยเมื่อเดินประทักษิณโดยรอบสถูป นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นระบบสัญลักษณ์ของการหลุดพ้นจากกามภูมิ (แทนด้านฐานประทักษิณชั้นที่หนึ่ง) ไปสู่รูปภูมิ (ฐานประทักษิณชั้นที่สองถึงสี่) อีกด้วย
เนื่องจากบุโรพุทโธ เป็นสถูปที่จำลองจักรวาล ด้วยเหตุนี้ กามภูมิอันเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยมนุษย์ที่มัวเมาในกิเลสและตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมจึงถูกจำลองด้วยภาพสลักด้านล่าสุด ภาพสลักนี้สลักขึ้นตามคัมภีร์กรรมวิภังค์ ภาพสลักชุดนี้อยู่ที่ฐานด้านล่างสุดของบุโรพุทโธ โดยมีจำนวนถึง 160 ภาพสลักนี้เดิมอยู่ภายใต้ฐานหินที่ถูกก่อเสริมขึ้นมา ต่อมา ภาพเหล่านี้ถูกค้นพบโดยบังเอิญใน พ.ศ.2428 หลังจากที่ได้ถ่ายภาพทั้งหมดแล้วจึงได้ก่อหินปิดทับอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2434 เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของบุโรพุทโธปัจจุบันมีเพียง 5 ภาพเท่านั้นที่ยังเปิดให้คนทั่วไปชม
ในระบบการจำลองจักรวาล ภาพสลักกรรมวิภังค์นี้ ตรงกับ “” หรือ “ภูมิแห่งความต้องการ” เป็นภพภูมิของคนทั่วไปที่ยังมัวเมาในกิเลสตัณหาและยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เนื่องจากกามภูมิเป็นภพภูมิที่ต่ำที่สุดในสามโลกของพุทธศาสนา (คือ กามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิ) ด้วยเหตุนี้ภาพสลักดังกล่าวจึงถูกกำหนดให้สลักอยู่ที่หน้ากระดานล่างของฐานบัวชั้นล่างสุด สำหรับสาเหตุที่ต้องปิดภาพสลักดังกล่าวด้วยหินนั้น มีหลายแนวความคิด บางท่านเชื่อว่าเป็นการเสริมฐานให้มั่นคงแข็งแรง แต่บางท่านกลับเห็นว่าเป็นเหตุผลทางประติมานวิทยา
บุโรพุทโธ สถูปทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นโดยราชวงศ์ไศเลนทร์ในพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อจำลองจักรวาลในพุทธศาสนามหายาน
บุโรพุทโธอยู่ในฐานะ “มณฑล” หรือจักรวาลจำลองในพุทธศาสนามหายานซึ่งมีการจำลองจักรวาลทั้งสามระบบไปพร้อมกัน คือระบบพระพุทธเจ้าสามระดับ (อาทิพุทธ-ธยานิพุทธ-มานุษิพุทธ) ระบบภูมิสาม (อรูปภูมิ-รูปภูมิ-กามภูมิ) และ (ธรรมกาย-สัมโภคกาย-นิรมาณกาย) โดยการจำลองนั้น ใช้ทั้งระบบภาพสลัก ระบบแผนผังและการปรากฏภาพเล่าเรื่อง ระบบพระพุทธรูปในซุ้ม รวมถึงระบบสถูปมาใช้ในการจำลอง กล่าวคือ ภาพเล่าเรื่องนั้นไล่ระดับตั้งแต่คัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โลกจนไปถึงคัมภีร์ที่แสดงความพยายามในการหลุดพ้นจากกามภูมิและรูปภูมิตามลำดับ ฐานประทักษิณนั้นก็เริ่มต้นจากฐานเพิ่มมุมที่มีภาพสลักซึ่งแสดงลักษณะของรูปภูมิไล่ขึ้นไปจนถึงฐานกลมซึ่งไม่มีภาพสลักอันแสดงถึงความเป็นอรูปภูมิ พระพุทธรูปเองก็แสดงให้เห็นรูปภูมิเนื่องจากปรากฏไล่ขึ้นไปจากพระพุทธรูปธยานิพุทธซึ่งปรากฏองค์พระชัดเจน จนกลายเป็นพระพุทธรูปที่แสดงพระมหาไวโรจนะอันซ่อยอยู่ภายในสถูป แสดงให้เห็นความเป็นกึ่งรูปภูมิกึ่งอรูปภูมิ และในที่สุดได้กลายเป็นสถูปทึบซึ่งไม่มีพระพุทธรูปและลวดลายสลักใดๆ อันแสดงถึงความเป็นอรูปภูมิอย่างแท้จริง
ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.art-in-sea.com/.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://www.art-in-sea.com/
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 7684 โทรสาร 0 2226 5355