เว็บไซต์ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเณย์ กำลังทำการปรับปรุงบางส่วน ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ
ติดต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
จันทิบาจังระตูอยู่ที่เมืองโตรวุลันอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์มัชฌปาหิต มีลักษณะเป็นซุ้มประตูทรงเข้าเทวาลัย ซึ่งถือเป็นโคปุระที่งดงามที่สุดในศิลปะสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิต เป็นโคปุระที่สร้างด้วยอิฐซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับสถาปัตยกรรมที่โตรวุลัน ตัวโคปุระมีซุ้มประตูที่ประดับด้วยหน้ากาลสลักอิฐ หน้ากาลมีเขา มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือซึ่งเป็นลักษณะปกติสำหรับหน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม การปรากฏลายกนกครอบคลุมพื้นที่รอบๆหน้ากาลนั้นถือเป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากหน้ากาลอื่นๆในระยะร่วมสมัย
อนึ่ง ยอดของโคปุระแห่งนี้มีลักษณะคล้ายคลังกับเทวาลัยหลังเล็กที่จันทิปะนะตะรัน กล่าวคือ ประกอบด้วยหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองจำนวน 5 หลังประดับ เส้นรอบนอกของยอดวิมานมีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่งดงาม โคปุระที่มียอดปราสาทเช่นนี้ ต่อมาจะปรากฏอีกในศิลปะบาหลี
จันทิติกุส อยู่ที่เมืองโตรวุลันอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์มัชฌปาหิต มีลักษณะเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านทิศเหนือมีบันไดลงสระ ทางด้านทิศใต้มีลายยื่นออกมารองรับอาคารขนาดเล็กหลายยอด ซึ่งคงหมายถึงเขาพระสุเมรุจำลองนั่นเอง ลานแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยที่ ชั้นล่างและชั้นบนมีอาคารปรากฏอยู่ชั้นละ 8 ยอด โดยส่วนตรงกลางนั้น มีอาคาร 4 หลังล้อมรอบอาคารตรงกลางทีมีอีก 4 หลังเช่นกัน กลายเป็น 5 ยอดซึ่งตรงกับเขาพระสุเมรุมี 5 ยอด
ลานชั้นที่ 2 ของจันทิปะนะตะรัน มีเทวาลัยที่ล้อมรอบไปด้วยเทวดาแบกนาคซึ่งมีลักษณะที่พิเศษ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาคารหลังนี้เคยใช้ทำอะไร บ้างก็ว่าเป็นที่ปลุกเสกน้ำมนต์เนื่องจากนาคนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทร บ้างก็ว่าเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาทำสมาธิ บ้างก็ว่าเป็นที่เก็บของของวัดตามแบบาหลี หลังคาของอาคารหลังนี้คงเคยเป็นเครื่องไม้และได้สูญหายไปหมดแล้ว
ที่ลานชั้นที่ 2 นั้น ปรากฏเทวาลัยซึ่งมีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในพ.ศ.1912(ต้นพุทธศตวรรษที่ 20)เทวาลัยหลังนี้มีรูปแบบที่อาจใช้เป็นตัวอย่างศึกษาสถาปัตยกรรมชวาภาคตะวันออกตอนปลายสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิตได้
เทวาลัยมีขนาดเล็กและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุมีรัดอกคาดและที่ประตูทั้งสี่ทิศประดับหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้ายซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกับจันทิในสมัยสิงหาส่าหรียอดของจันทิมีรูปแบบคล้ายคลึงกับจันทิในสมัยสิงหาส่าหรีเช่นกัน กล่าวคือประกอบด้วยชั้นหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่ประดับด้วยอาคารจำลอง อย่างไรก็ตาม เส้นรอบนอกของยอดที่นี่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่อ่อนช้อยซึ่งคงแสดงพัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่าสมัยสิงหาส่าหรี ยิ่งกว่านั้น อาคารจำลองของจันทิที่มีจำนวนถึง 7 หลังนั้น ก็มีจำนวนมากกว่าอาคารจำลองในศิลปะสมัยสิงหาส่าหรีที่มีจำนวนเพียง 5 หลังต่อชั้นเท่านั้น
จันทิปะนะตะรัน สร้างขึ้นในสมัยชวาภาคกลางตอนปลาย สมัยราชวงศ์มัชฌปาหิต แผนผังของจันทิปะนะตะรันคล้ายกับเทวาลัยในเกาะบาหลีในปัจจุบัน คือแบ่งออกเป็น 3 ลาน ลานด้านหน้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนเทวาลัยประธานนั้นตั้งอยู่ด้านในสุดทางทิศตะวันออกติดกับเชิงเขา ลานชั้นแรกปรากฏฐานหินขนาดใหญ่ 2 ฐาน คงเคยรองรับอาคารโถงที่สร้างด้วยไม้ ส่วนลานชั้นที่ 2 นั้น ปรากฏเทวาลัย 2 หลัง หลังแรกเป็นเทวาลัยยอดปราสาทซึ่งสามารถใช้ศึกษาลักษณะสถาปัตยกรรมมัชฌปาหิตได้ ส่วนหลังที่สองเป็นอาคารล้อมรอบไปด้วยพญานาค ลานชั้นในสุดเป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นซึ่งมีความหมายแทนเขาพระสุเมรุ ด้านบนประดิษฐานจันทิประธานซึ่งไม่หลงเหลือแล้ว
ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฐานข้อมูลศิลปกรรมเอเซียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.art-in-sea.com/.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://www.art-in-sea.com/
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 7684 โทรสาร 0 2226 5355